เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

เลือกเปลี่ยนภาษา
ไทย อังกฤษ

เคล็ดลับการประหยัดพลังงาน

ใช้รถสาธารณะก็ได้ ไม่เปลือง
     ถนนในกรุงเทพฯมีรถแน่นขนัดเป็นเพราะผู้ใช้รถต่างเคยชินกับความคิดที่ว่า มีรถก็ต้องขับ และเจ้าความเคยชินนี่เองที่ทำให้เราลืมนึกไปว่า ยังมีรถสาธารณะให้เลือกใช้กันได้อีกหลายรูปแบบ ทั้งแท็กซี่ รถโดยสารปรับอากาศหรือถ้าทันสมัยก็ต้องรถไฟฟ้า

     ถ้าเราลองเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะบ้าง นอกจากจะช่วยคลายเครียดไม่ต้องหงุดหงิดที่ต้องขับรถเองแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติลดการใช้น้ำมันได้ปีละหลายล้านลิตรทีเดียว

     จากการศึกษาพบว่า ถ้าผู้ขับรถยนต์ 1 % ในจำนวนรถยนต์ 5 ล้านคันเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะให้ได้ระยะทางรวมกัน 48 กิโลเมตรต่อวันในเวลา 1 ปี
ซึ่งนับจาก 260 วันทำงานก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ปีละ 52 ล้านลิตร ถ้าคิดเป็นเงินก็สูงถึง 780 ล้านบาทเลยทีเดียวเลยนะครับ 

     ลองเปลี่ยนวิธีเดินทางของคุณวันนี้มาใช้รถโดยสารสาธารณะดูบ้างสิครับ คุณจะภูมิใจที่มีส่วนช่วยประเทศชาติของเรา

 
ทางใกล้ไม่ใช้รถ

 ถ้าเราลองเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะบ้าง นอกจากจะช่วยคลายเครียดไม่ต้องหงุดหงิดที่ต้องขับรถเองแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติลดการใช้น้ำมันได้ปีละหลายล้านลิตรทีเดียว

     คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยขับรถแค่ระยะใกล้ๆไปซื้อของหน้าปากซอยหรือเปล่าครับ
     ถ้าใช่ คุณรู้หรือไม่ว่า การขับรถระยะทางใกล้ๆเพียง 500 เมตร อย่างไปปากซอยนั้น จะสิ้นเปลืองน้ำมันประมาณ 40 ซี.ซี. หรือคิดเป็นเงินก็ 60 สตางค์

 ถ้าสมมติว่าต้องขับรถไป-กลับ 4 รอบ ก็จะเสียเงินค่าน้ำมันไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 2 บาท ฟังดูเหมือนนิดเดียวใช่ไหมครับ?

     แต่ถ้าสักครึ่งหนึ่งของคนที่ใช้รถยนต์จำนวน 5 ล้านคันเปลี่ยนความเคยชินเดิมที่รักสบายเป็นหลักมาใช้รถจักรยานหรือเดินแทน เมื่อต้องออกไปทำธุระใกล้ๆ ทำอย่างนี้แค่สัปดาห์ละ 1 ครั้งใน 1 ปี เชื่อไหมครับว่าเราจะช่วยกันประหยัดน้ำมันได้ถึง 5.2 ล้านลิตร หรือถ้าคิดเป็นเงินก็ประมาณ 78 ล้านบาท เพราะฉะนั้น เปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมกันใหม่ดีกว่าครับ "ทางใกล้ ไม่ใช้รถ" ง่ายนิดเดียว ได้ออกกำลังกายแถมยังได้ช่วยชาติประหยัดน้ำทันด้วยครับ
 
แท่งเชื้อเพลิงเขียว

 ถ้าเราลองเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะบ้าง นอกจากจะช่วยคลายเครียดไม่ต้องหงุดหงิดที่ต้องขับรถเองแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติลดการใช้น้ำมันได้ปีละหลายล้านลิตรทีเดียว

     ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีอันทันสมัยจะให้ความสะดวกสบายแก่เราในเรื่องการหุงต้มอย่างมากมาย แต่ก็ยังมีหลายครัวเรือนโดยเฉพาะในชนบทที่ต้องใช้ฟืนและถ่านในการหุงต้มกันอยู่เลยครับ

 เชื่อไหมว่าในปี 2544 ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรามีการใช้ลังงานจากฟืนและถ่านถึง 16.7 % ของการใช้พลังงานในครัวเรือนทั่วประเทศหรือเท่ากับมีการตัดไม้เพื่อทำฟืนและถ่านมากถึงปีละกว่า 86,000 ลูกบาศก์เมตรเชียวครับ มิน่าเล่าป่าไม้บ้านเมืองเราถึงเหลืออยู่เพียง 25 % เท่านั้น

     นับว่ายังเป็นโชคดีของประเทศเกษตรกรรมอย่างเราที่มีผู้คิดค้นนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างชานอ้อย วัชพืช หรือแม้กระทั่งใบไม้ต่างๆมาดัดแปลงเป็นแท่งเชื้อเพลิงเขียวที่ติดไฟและนำไปใช้หุงต้มได้โดยตรงด้วยเทคโนโลยีแบบง่ายๆและยังเสียค่าใช้จ่ายไม่มากอีกด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็จะสามารถลดการตัดไม้มาทำฟืนเป็นการช่วยรักษาสมดุลให้สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
 
ดอกไม้รับปริญญา

 ถ้าเราลองเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะบ้าง นอกจากจะช่วยคลายเครียดไม่ต้องหงุดหงิดที่ต้องขับรถเองแล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศชาติลดการใช้น้ำมันได้ปีละหลายล้านลิตรทีเดียว

     บัณฑิตใหม่กับดอกไม้ช่อสวยเหมือนเป็นของคู่กันเลยนะครับ เฮ่อ..แต่น่าเสียดายที่อีกไม่นานดอกไม้ช่องามเหล่านี้ก็ต้องไปอยู่ในถังขยะซะแล้ว

 ดอกไม้สวยๆเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้เมืองหนาวที่ในบ้านเราจะปลูกกันมากบนดอยสูง ทราบไหมครับว่ากว่าจะเป็นดอกไม้ช่องามอย่างนี้ต้องหมดพลังงานไปมากมายขนาดไหน
     เริ่มตั้งแต่พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการสูบน้ำจากลำห้วยมาเก็บไว้ในบ่อพัก เฉลี่ยแล้ว 1 โรงเรือนต้องใช้น้ำ 600-1,000 ลิตรต่อวัน คิดดูสิครับบางสวนนั้นมีเป็น 100 โรงเรือนเลยทีเดียว

     และถ้าต้องการให้ดอกไม้มีลำต้นสูงแข็งแรง แสงธรรมชาติอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ ต้องเปิดไฟฟ้าช่วยให้แสงสว่างเพิ่มอีกวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งกว่าจะติดดอกได้ต้องใช้เวลาปลูกนานกว่า 5-6 เดือน ซึ่งนั่นก็ต้องใช้ไฟฟ้ารมกันไม่น้อยกว่า 450 ชั่วโมงแน่ะครับ 

     เป็นอย่างไรครับกว่าจะได้ดอกไม้สวยๆต้องหมดพลังงานไปมากมายเลยนะครับ อย่างนี้ผมว่าจะให้ดีซื้อของขวัญให้บัณฑิตครั้งต่อไปลองเลือกหาสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้ยาวนานน่าจะดีกว่านะครับ

 
กินข้าวเหลือ

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าข้าวแต่ละเม็ดที่เรารับประทานนั้นหมายถึงหยาดเหงื่อแรงกายของชาวนาไทย แต่น้อยคนนักจะนึกถึงพลังงานจำนวนมากที่ต้องใช้ไปในการปลูกข้าวครับ

     เริ่มตั้งแต่การไถนาเตรียมดิน เจ้าควายเหล็กหรือรถไถนาก็ต้องกินน้ำมัน พอจะเกี่ยวข้าวชาวนาสมัยใหม่ก็ใช้รถเกี่ยวข้าวแทนการลงแขกก็ต้องเสียค่าน้ำมันอีก

เก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องสีข้าวจากข้าวเปลือกไปเป็นข้าวกล้อง แล้วยังต้องขัดให้เป็นข้าวขาวอีก ซึ่งสว่นใหญ่ในทุกขั้นตอนจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนเครื่องจักร แล้วอย่างนี้วันนึงๆ โรงสีข้าวจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากมายขนาดไหน 

     สุดท้ายก่อนจะเป็นข้าวสวยร้อนๆก็ต้องหุงข้าวกันก่อน ซึ่งหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่โดยมากจะกินไฟตั้งแต่ 450-800 วัตต์ วันหนึ่งเราต้องหุงข้าวกันประมาณ 3 มื้อ ถ้าคิดถึงพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้หุงข้าวในครัวเรือนทั้งประเทศแล้วก็ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ โอ้โฮ...ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมครับ เพียงข้าวที่เหลือค้างจานนั้นจะหมายถึงพลังงานที่เสียเปล่ามากมายขนาดนี้ แล้วอย่างนี้คุณจะทานข้าวเหลืออีกไหมล่ะครับ

ดินสอแท่งเล็ก

คุณก็เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้ดินสอยังไม่หมดแท่งดีก็เปลี่ยนแท่งใหม่เสียแล้วใช่ไหมครับ

     ทราบไหมครับว่าการผลิตดินสอในบ้านเรานั้นต้องใช้ไม้จากต่างประเทศทั้งหมด 100 % เลยนะครับ ทั้งไม้เจลูต๊องจากประเทศอินโดนีเชียหรือไม้ซีดาร์จากสหรัฐอเมริกา เพราะการทำดินสอนั้นต้องใช้ไม้ที่เนื้อไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไปแล้วก็ใช้เฉพาะไม้ส่วนกลางของลำต้นเท่านั้นและยังต้องเป็นต้นไม้ที่มีอายุ 12-15 ปีขึ้นไปด้วยแม้แต่ใส้ดินสอก็ต้องนำเข้าจากจีนและไต้หวันด้วยเหมือนกัน แล้วเวลาผลิตเขาก็ใช้เครื่องจักรเป็นหลัก โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนก็ต้องเสียค่าไฟฟ้าถึง 150,000 บาท ต่อโรงงานแล้วยังต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นอีกจำนวนไม่น้อยด้วยเมื่อทราบอย่างนี้แล้วคราวต่อไปหยิบดินสอมาใช้กันให้คุ้มจนเกือบหมดแท่ง

แยกขยะช่วยประหยัดพลังงาน
     เคยลองนับกันเล่นๆบ้างไหมครับว่าใน 1 วันเราทิ้งขยะไปมากมายแค่ไหนแล้วเราทิ้งอะไรไปบ้าง

 ทราบไหมครับว่า เราสามารถช่วยลดปริมาณเจ้าขยะกองโตเหล่านี้ได้ถึง 40 % หากเราช่วยกันแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งเฉลี่ยแล้วในขยะต่างๆจะมีขยะประเภทเศษแก้วปะปนอยู่ถึง 5.5% พลาสติก 12% และเศษกระดาษอีก 15%

     หากนำเศษแก้วที่ถูกทิ้งเป็นขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในการผลิตขวดแก้วใหม่ เพิ่มขึ้นเพียง 10% ในการผลิตขวดแก้ว 1 ตัน จะช่วยลดปริมาณเศษแก้วในขยะมูลฝอยได้ถึง 110,000 ตันต่อปี และประหยัดพลังงานได้ถึง 3% 

     สำหรับการผลิตกระดาษจำนวน 1 ตันนั้น เราต้องตัดต้นไม้ถึง 17 ต้นและใช้น้ำในกระบวนการผลิตไม่น้อยกว่า 100,000 ลิตร ซึ่งหากนำกระดาษเก่ามารีไซเคิลเพื่อผลิตกระดาษใหม่ก็จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึงครึ่งหนึ่งและไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้เลย 

     ส่วนพลาสติกเก่าเราก็สามารถนำมาหลอมใช้ใหม่ได้ทั้งหมด หันมาแยกขยะในบ้านของคุณเองกันตั้งแต่วันนี้เถอะครับ ไม่เพียงจะช่วยให้เรามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราประหยัดพลังงานและลดการสูญเสียเงินตราในการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆเหล่านั้นด้วยครับ

 
เตาแก๊สประยัดพลังงาน
     ทุกวันนี้ เตาแก๊ส ดูจะเป็นอุปกรณ์จำเป็นคู่ครัวของคุณไปแล้ว คนไทยเราใช้ก๊าซหุงต้มมากถึงประมาณ 2.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นเงินถึง 18,400 ล้นบาททีเดียว และในจำนวนนี้ก็มีบางส่วนที่สูญเสียไปกับการใช้ก๊าซอย่างสิ้นเปลือง

รู้ไหมครับว่า ทุกครั้งที่คุณเปิดฝาหม้อเพื่อดูว่าอาหารข้างในเป็นอย่างไรนั้น ความร้อนประมาณ 25-50 องศาเซลเซียสก็กำลังเล็ดลอดออกไปด้วย และเตาแก๊สก็ต้องใช้ก๊าซมากขึ้นเพื่อให้พาชนะกลับมาร้อนเหมือนเดิม

     เพราะฉะนั้น การต้มน้ำหากเราหาฝามาปิดภาชนะที่ใช้ในการต้ม เราก็จะไดน้ำที่เดือดเร็วขึ้นและใช้ก๊าซน้อยกว่าการต้มน้ำโดยเปิดฝาทิ้งไว้ด้วย 

     หม้อหรือกระทะที่ใช้ก็ไม่ควรให้มีคราบตะกรันเกาะจับ เพราะจะทำให้อาหารเดือดและสุกช้า สิ้นเปลืองก๊าซโดยไม่จำเป็นเลยนะครับ 

     มีผู้ประเมินว่า หากประชาชนเพียง 10 % ของผู้ใช้ก๊าซหุงต้มสามารถใช้ก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ก็จะช่วยประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงได้ 1.75 บาท/กก. และประเทศของเราจะมีก๊าซหุงต้มเหลือส่งออกถึงปีละ 13,000 ตัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกปีละไม่น้อยกว่าร้อยล้านบาทเชียวนะครับ

 
ปิดสวิตช์โทรทัศน์
     คุณเป็นคนหนึ่งที่เปิดสวิตช์โทรทัศน์ทิ้งไว้ใช่ไหมครับ
ความเคยชินกับการใช้รีโมตคอนโทรลนี่ละครับที่มักทำให้เราลืมปิดสวิตช์โทรทัศน์กันเป็นประจำ ก็เลยทำให้โทรทัศน์ใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องแม้จะปิดเครื่องแล้วก็ตาม

 มีตัวเลขออกมานะครับว่า โทรทัศน์สียอดฮิตขนาด 21 นิ้ว ซึ่งกินไฟประมาณ 110 วัตต์ ถ้าเราเปิดเครื่องสแตนด์บายหรือเปิดค้างอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เราใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 8.2% เลยนะครับ

     ลองคิดดูเล่นๆนะครับว่าถ้าใน 1 วัน เราปล่อยให้โทรทัศน์สแตนด์บาย 20 ชั่วโมง ใน 1 เดือนจะสิ้นเปลืองไฟฟ้าถึง 5.4 หน่วยหรือคิดเป็นเงินก็ประมาณ 13.50 บาท ดูเล็กน้อยนะครับ แต่คนไทยทั้งประเทศมีโทรทัศน์กว่าแสนเครื่อง ลองคุณดูสิครับว่ามันตั้งเท่าไหร่ เดือนละเป็นล้านแน่ะ...ไม่น้อยนะครับ
     อย่างนี้แล้ว...คราวต่อไป เมื่อเลิกดูโทรทัศน์แล้วอย่าลืมปิดสวิตช์และถอดปลั๊กออกด้วยนะครับ ออกแรงแค่นิดเดียว แต่เชื่อเถอะครับว่าเราจะมีส่วนช่วยประหยัดพลังงานและก็ช่วยชาติประหยัดเงินได้ไม่น้อยอีกทางหนึ่งนะครับ

 
ภาชนะพลาสติก
     ภาชนะพลาสติกสำหรับใส่อาหารนั้น ส่วนมากจะใช้เม็ดพลาสติก 100% หรือเม็ดพลาสติกที่ผลิตขึ้นใหม่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต เม็ดพลาสติกที่ว่านี้ จะสังเคราะห์ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีปิโตรเลียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีเราต้องนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากต่างประเทศเป็นปริมาณมหาศาลเชียวนะครับ

 

     และนอกจากนั้นในขั้นตอนของการหลอมละลายเม็ดพลาสติกก็ต้องใช้ความร้อนสูงมากและเครื่องจักรต่างๆยังต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อน นั่นหมายถึงว่ากว่าเราจะได้ภาชนะพลาสติกใช้กัน เราต้องใช้พลังงานไฟฟ้าไปจำนวนมหาศาล

     ทราบไหมครับว่ากว่าร้อยละ 80 ของเม็ดพลาสติกที่เราผลิตได้ในประเทศ จะถูกนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รู้อย่างนี้แล้วคราวหน้าก่อนทิ้งลองทบทวนดูสักนิดนะครับว่าเราจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกหรือเปล่าครับ

 
ซักผ้าน้อยชิ้น
     คิดไม่ถึงใช่ไหมครับว่า การซักผ้าเพียงไม่กี่ชิ้นต่อครั้งจะทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่น้อยเลยนะครับเพราะในการซักผ้าแต่ละครั้งถ้าเราเปิดน้ำไหล 45 นาที จะใช้น้ำ 80-100 ลิตรต่อครั้ง

 ยิ่งสำหรับคนที่ใช้เครื่องซักผ้าการซักผ้าแต่ละครั้งจะกินไฟโดยเฉลี่ย 370 หน่วยต่อปี คิดเป็นเงินก็ 925 บาทต่อปี

     สำหรับเรื่องขนาดเครื่องซักผ้าที่ใช้ก็สำคัญนะครับ เช่น เครื่องซักผ้าขนาด 6.5 กิโลกรัม หรือ 440 วัตต์ ซักผ้าในเวลา 2 ชม. ก็จะต้องเสียเงินมากกว่าใช้เครื่องซักผ้าขนาด 4.5 กิโลกรัม หรือ 330 วัตต์ถึง 60 หน่วยต่อปี คิดเป็นเงินก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 150 บาทต่อปีเลยนะครับ 

     และหากใครต้องใช้เครื่องแบบอบแห้งด้วยแล้ว ก็จะทำให้เปลืองไฟฟ้ามากขึ้นไปอีก เห็นไหมละครับว่าแม้คุณจะซักผ้าเพียงไม่กี่ชิ้น แต่คุณก็ต้องเสียค่าไฟเท่ากับการซักผ้า 1 ครั้ง 

     คราวต่อไปถ้าจะซักผ้า ก็ควรใส่ผ้าให้มีปริมาณที่เหมาะสมไม่น้อยหรือไม่อัดแน่นจนเต็มเครื่องเกินไปนะครับ

 
ถุงพลาสติกรีไซเคิล

 แม้จะเคยทราบความยากลำบากในการกำจัดขยะพลาสติกแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความจำเป็นในการใช้เจ้าถุงเหล่านี้ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บ แต่ความที่มันย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้ เจ้าถุงพลาสติกก็เลยกลายเป็นขยะอมตะที่ไปเพิ่มปริมาณขยะในประเทศเราให้มากถึง 900 ตันต่อวันเชียวนะครับ

     ถึงแม้ถุงก๊อบแก๊บหลากสีสัน ส่วนใหญ่จะผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลก็ตาม แต่กระบวนการใช้เครื่องจักรกลที่ใช้แยกและการล้างเม็ดพลาสติกก็สร้างความยุ่งยาก และสิ้นเปลืองพลังงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า

     ทีนี้ลองกลับมานึกถึงถุงก๊อบแก๊บที่คุณเพิ่งได้มาสิครับว่ายังสามรถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกหรือเปล่า คุ้มค่าเพียงพอที่จะทิ้งมันไปแล้วหรือยัง หรือไม่นะครับก็ลองหาถุงผ้ามาใช้แทน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนี้จะได้อยู่กับเราได้นานๆไงละครับ

 
มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง
     การประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจหนึ่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลในการเดินเครื่องจักร แต่สิ่งที่น่าคิดคือเราจะทำอย่างไรให้เครื่องจักรเหล่านั้นมีการผลิตที่คงที่ แต่กินไฟน้อยลงเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้ด้วยเช่นกัน

 มอเตอร์นับเป็นเฟืองจักรสำคัญในการผลิตสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ และเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง 50 % ของการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตทั้งหมดเลยนะครับ

     เหตุที่มอเตอร์ไฟฟ้ากินไฟมากเนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นในส่วนประกอบต่างๆของตัวมอเตอร์ เช่น ความสูญเสียจากแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปแบบของความร้อนจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านขดลวด จากแรงเสียดทานในตลับลูกปืน และจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน 

     จากความสูญเสียนี้เอง ที่ทำให้มีผู้คิดผลิตมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง เช่น การเปลี่ยนมาใช้แผ่นเหล็กซิลิคอนขนาดบางแทนการใช้แผ่นเหล็กธรรมดาในการทำแกนเหล็กที่สเตเตอร์และโรเตอร์ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียทางไฟฟ้าลงได้ครึ่งหนึ่ง หรือการใช้ขดลวดทองแดงที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม 30-40 % เพื่อลดค่าความต้านทานในขดลวด รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างสเตเตอร์กับโรเตอร์ลงเพื่อเพิ่มความเข้มของสนามแม่เหล็กก็จะทำให้มอเตอร์ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้นครับ

 
บ้านประหยัดพลังงาน
     บ้านประหยัดพลังงาน คือ บ้านที่ออกแบบโดยการนำหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ออกแบบก่อสร้างให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบบ้านเรา โดยทำให้รอบๆบ้านเย็นด้วยการปลูกต้นไม้ให้มีลมพัดผ่าน และปลูกพืชคลุมดินเพื่อให้ผิวดินรอบบ้านเย็น

 การออกแบบด้วยหลังคาทรงสูง ใช้วัสดุมุงหลังคาที่ช่วยระบายความร้อน ติดตั้งผนังระบบฉนวนกันความร้อน และมีช่องเปิดตรงกลางบ้านที่แสงธรรมชาติจะส่องลงมาทำให้ทั่วบ้านสว่าง และไอร้อนก็จะลอยออกจากบ้านผ่านช่องเปิดนี้ บ้านทั้งหลังก็เลยทั้งสว่างและเย็นสบายมากเลยละครับ

     ลองคำนวณการใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านประหยัดพลังงานซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 330 ตารางเมตร แต่ใช้เครื่องปรับอากาศเพียง 3 ตัน หรือ 110 ตารางเมตรต่อตัน ประหยัดได้มากกว่า 7-8 เท่าเชียวนะครับ ด้วยการออกแบบ และเลือกใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสม ทำให้บ้านหลังนี้มีคุณค่าในด้านประโยชน์ใช้สอย และสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างคุ้มค่ามากทีเดียวครับ
 
พลังงานลม
     ขณะนี้พลังงานลมเป็นพลังงานที่หลายประเทศมีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง มีรายงานว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีการใช้พลังงานลมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว และในปัจจุบันมีการใช้พลังงานลมมากเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของพลังงานที่ใช้อยู่ทั้งหมดครับ

 พลังงานลมที่ใช้กันอยู่มนปัจจุบัน โดยหลักแล้วอาศัยพลังงานจากกระแสลมมาหมุนกังหันเกิดเป็นพลังงานกล ซึ่งใช้หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมาใช้งานที่บ้านเรา

     การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้พัฒนานำพลังงานลมมาใช้อย่างจริงจัง โดยได้นำพลังงานลมมาใช้ผลิตไฟฟ้าใน 4 โครงการรวมกำลังการผลิตประมาณ 170 กิโลวัตต์เช่น ที่แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต มีการใช้พลังงานร่วมคือ จากเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลม สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2 แสนยูนิต่อปี ซึ่งก็เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าสำหรับ 110 ครอบครัวต่อปีทีเดียวครับ 

     หากสามารถพัฒนาพลังงานลมให้เป็นพลังงานหลักอีกอย่างหนึ่งในการผลิตไฟฟ้า เชื่อแน่ครับว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาเรื่องการจัดหาเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน และที่สำคัญพลังงานที่ว่านี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยครับ

 
พลังงานแสงอาทิตย์
     คุณทราบไหมครับว่า ลักษณะภูมิประเทศของบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้นเหมาะสำหรับการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์มากเลยครับ
     ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจำกัดเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลเท่านั้นนะครับ เพราะกรจ่ายไฟฟ้าจากโรงจ่ายไฟฟ้าต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสายส่ง ซึ่งจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากกว่า

 แต่ในปี พ.ศ. 2546 นี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งสามารถจะผลิตไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 2.25 เมกะวัตต์ก็จะสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 6,100 บาร์เรล 

     และรัฐบาลยังมีนโยบายว่าภายในปี พ.ศ. 2554 จะเร่งให้มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้มาถึง 180 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติเทียบเท่าน้ำมันดิบได้ถึง 1 แสนบาร์เรลต่อปีเชียวนะครับ 

     ที่สำคัญประเทศไทยยังมีปริมาณสำรองแร่ควอตซ์มากถึง 27 ล้านตัน ซึ่งแร่ควอตซ์นี่ละครับที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และขณะนี้นักวิจัยไทยสามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ได้เองแล้วด้วย ดังนั้นนอกจากต้นทุนการนำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์ราคาแพงจะลดลงแล้ว เรายังสามารถวางแผนที่จะผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อขายและส่งออกนำรายได้เข้าประเทศในอนาคตอีกด้วยครับ

 
พลังงานชีวมวล
     ชีวมวล ชื่อนี้ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์ และชวนให้เข้าใจยาก แต่จริงๆแล้วเชื้อเพลิงชีวมวล คือเชื้อเพลิงที่มาจากชีวะ หรือสิ่งมีชีวิตนั่นเอง เช่น ไม้ฟืน แกลบ กากอ้อย เศษไม้ เศษหญ้า มูลสัตว์ และเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ใช้เผาให้ความร้อนได้ทั้งนั้น และความร้อนนี้แหละครับที่เอาไปปั่นไฟฟ้าได้

 

     นอกจากนี้กากของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร เช่น เปลือกสัปปะรดจากโรงงานสัปปะรดกระป๋อง หรือมูลสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงหมูก็สามารถนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพได้อีก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญาเรื่องกลิ่นเหม็นแล้ว ยงได้ก๊าซมาใช้ในการหุงต้มอาหาร ได้ไฟฟ้ามาใช้ในฟาร์มเลี้ยงอีกตลอดทั้งคืน และยังไม่เสียค่าใช้จ่ายในการกวาดล้างมูลหมูในฟาร์มอีกด้วยครับ  จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำพลังงานจากชีวมวลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่งดี โดยเฉพาะการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ที่เป็นสารอินทรีย์ต่างๆ มาหมักเพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเกิดพลังงานช่วยลดปริมาณขยะและไม่ก่อให้เกิดปญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยครับ

     ชีวมวล (Biomass) หมายถึง เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงมูลสัตว์ ของเสียจากการแปรรูปสินค้าเกษตร และขยะ โดยชีวมวลเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ 

     ก๊าซชีวภาพ (Biogas) หมายถึง ก๊าซที่เกิดขึ้นโดยกระบวนการย่อยสลายของนิวทริแฟกทีฟแบคทีเรีย (Nutrifactive Bacteria) ในสภาวะที่ไม่มีอากาศ (Anarobic Digestion) ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วย มีเทน (CH4) ประมาณ 60 % และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 40 % ทำให้ก๊าซชีวภาพมีน้ำหนักเบากว่าอากาศเล็กน้อย และมีอุณหภูมิติดไฟที่ประมาณ 700 องศาเซลเซียส

 
เอทานอลและไบโอดีเซล เชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อคนไทย
     ก็เพราะเราเป็นเศรษฐีข้าว ไม่ใช่เศรษฐีน้ำมันนี่ละครับจึงต้องเร่งตื่นตัวหาเชื้อเพลิงทางเลือกและพลังงานรูปแบบใหม่มาช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่งประเทศ และขณะนื้เราก็มีโครงการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากผผลิตทางการเกษตรของเราเองด้วยล่ะครับ

 

     ข้อดีของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง 2 ชนิดนี้คือ จะให้แก๊สไอเสีย และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์น้อยมากครับเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ถึงแม้จะมีค่าความหนืดสูงกว่าน้ำมันธรรมดา แต่ก็ยังคงไหลได้ภายใต้สภาพอากาศที่อบอุ่น และยังมีผลการวิจัยอยู่มากมายครับที่ชี้ให้เห็นว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมาทดแทนได้ด้วยครับ 

     ลองคิดดูนะครับ ถ้าปกติเราต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตน้ำมันสำเร็จรูป 700,000 บาร์เรลต่อวัน หากเราเปลี่ยนมาใช้เอทานอลผสมกับน้ำมันเบนซินและใช้ไปโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลธรรมดาแค่เพียง 15 % เราจะสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้ถึง 100,000 บาร์เรลต่อวันเลยทีเดียวครับ
นอกจากจะได้ประหยัดเงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆแล้ว เชื้อเพลิงชีวภาพยังช่วยให้เรามีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีด้วยไงล่ะครับ
NGV : Natural Gas Vehicle
      ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถยนต์ในปัจจุบันครับ ด้วยคุณสมบัติที่เบากว่าอากาศถ้าเกิดรั่วไหลจะสลายตัวและและลอยตัวขึ้นสูง ทำให้โอกาสที่จะเกิดการระเบิดจึงมีน้อยมากครับ แถมก๊าซธรรมชาติยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะปล่อยมลพิษในปริมาณที่น้อยกว่าเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันเบนซินและดีเซลอีกด้วย 
     ทุกวันนี้จึงมีหลายประเทศเริ่มหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติกันมากขึ้นครับ เมื่อปลายปีพ.ศ. 2543 ที่นครปักกิ่งมีรถยนต์ใช้ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติวิ่งมากถึง 1,633 คัน และจัดว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีรถประจำทางใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่นบางราย ก็ได้หันมาผลิตรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ CNG หรือที่เรียกกันว่ารถ NGV ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้นด้วยครับ 

     ในเมืองไทยเราก็มีรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติไม่น้อยอยู่เหมือนกัน อย่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ข.ส.ม.ก. ก็มีรถโดยสารประจำทางสาย ปอ. 24 ให้บริการถึง 38 คันครับ และขณะนี้ยังมีการดัดแปลงให้เครื่องยนต์ใช้ได้ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คาดว่าสิ้นปี พ.ศ. 2545 จะมีรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้บริการในกรุงเทพฯถึงประมาณ 1,100 คัน เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถูกกว่าเติมน้ำมันถึงครึ่งหนึ่งเชียวนะครับ
*CNG = Compressed Natural Gas 
*NGV = Natural Gas Vehicle

 
นโยบายการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย
     มาถึง 4 กลยุทธ์สำคัญที่พลาดไม่ได้เชียวครับ เป็นมาตรการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้วางไว้เพื่อพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมให้พวกเราคนไทยมีใช้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพสูงสุดไงล่ะครับ

1. จัดหา: จัดหาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมให้พอเพียงกับความต้องการใช้งานภายในประเทศ แถมยังต้องเสาะแสวงหาแหล่งปริมาณสำรองเพิ่มเติมจากทั้งภายในประเทศ เขตพื้นที่พัฒนาร่วมและพื้นที่คาบเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยครับ

     2. ทดแทน: เร่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศเกือบ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน มาใช้ทดแทนน้ำมันน้ำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งช่วยชาติประหยัดเงินได้ถึง 6-7 พันล้านบาทต่อปี และยังได้พัฒนาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้อีกประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวันอีกนะครับ

     3. รักษากลไกราคา: กำกับดูแลให้ราคาของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศมีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศด้วยนะครับ

     4. ร่วมมือ: เรายังมีมาตรการป้องกันภาวะขาดแคลนปิโตรเลียมโดยผ่านกลไกความร่วมมอระหว่างประเทศด้วยครับ โดยเฉพาะความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน ทั้งในสภาวะฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ASEAN Petroleum Security Agreement และโครงการระยะยาว เช่น โครางการโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Energy Network) ซึ่งมี 2 ส่วนหลักๆ คือ โครงข่ายท่อส่งก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) และโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงอาเซียน (ASEAN Power Grid) 

     และกลยุทธ์นี้แหละครับจะเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านสถานที่ตั้งของประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายพลังงานของ ASEAN ได้อย่างเต็มที่เชียวนะครับ