ประกาศ

  • รายชื่อผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

    รายชื่อผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงบนบกหมายเลข L1/64

    บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด

  • ประกาศ เรื่อง การยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

    เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. บริษัทที่สนใจที่จะมายื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2564 และวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ขอให้นัดวันเวลาการยื่นคำขอได้ที่ PetroleumBidding@dmf.go.th และเจ้าหน้าที่จะได้ยืนยันวันเวลาก่อนที่จะมีการยื่นคำขอ

  • ประกาศเชิญชวน

     
     

    ประกาศกระทรวงพลังงาน
    เรื่อง การยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก

                           
     

              ด้วยกระทรวงพลังงานประสงค์จะให้มีการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจ เขตพื้นที่บนบก จำนวน ๑ แปลง ดังปรากฏรายละเอียดของเขตพื้นที่แปลงสำรวจที่เปิดให้ยื่นขอตามแผนที่ ป.๙๗/๒๕๖๔ ดังแสดงในเอกสารแนบ ๑ ท้ายประกาศฉบับนี้ และกำหนดให้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกดังกล่าวในรูปแบบสัมปทาน ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ และลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔ โดยมีค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยา ค่าลดหย่อนพิเศษ และข้อผูกพันขั้นต่ำของแปลงสำรวจดังแสดงในเอกสารแนบ ๒ ท้ายประกาศฉบับนี้
     

              ผู้สนใจที่จะยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้

              ข้อ ๑ คุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
                             ผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ผู้ขอ) ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ ในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ดังต่อไปนี้
                             ๑.๑ เป็นบริษัท โดยต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
                                     (๑) ผู้ขอต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
                                     (๒) ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทางด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
                                     (๓) ต้องไม่เป็นบริษัทที่ทิ้งการดำเนินงานตามข้อผูกพันที่กำหนดในสัมปทานหรือถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย
                                     (๔) ต้องไม่เป็นบริษัทที่มีรายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ถือหุ้น หรือรายชื่อกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม อยู่ในรายชื่อผู้ทิ้งการดำเนินงานตามข้อผูกพันที่กำหนดในสัมปทานหรือถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย
                             ๑.๒ มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม โดยต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
                                     (๑) สถานะทางการเงินอย่างน้อย ๒ ปีในช่วงระยะเวลา ๓ ปีย้อนหลัง
                                           - มีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ (Shareholder’s Equity) ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ล้านบาท (หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) และ
                                           - มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ในอัตราส่วนไม่น้อยกว่า ๑
                                     (๒) มีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา
                                     ในกรณีที่ผู้ขอไม่มีลักษณะครบถ้วนตาม ๑.๒ ต้องมีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาลเชื่อถือ และมีลักษณะตาม ๑.๒ และมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับผู้ขอ รับรองที่จะให้ทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม
                             ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ขอประกอบด้วยบริษัทมากกว่าหนึ่งราย ผู้ขอทุกรายต้องมีคุณสมบัติ ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔
     

              ข้อ ๒ การยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
                             ผู้ขอต้องยื่นคำขอตามแบบ ชธ/ป๑ ที่กำหนดโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามเอกสารแนบ ๓ ท้ายประกาศฉบับนี้ และเอกสารการยื่นขอตาม ๒.๑ เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมและวางหลักประกันคำขอตาม ๒.๒ ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยยื่น ณ ที่ทำการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคารบี ชั้น ๒๑ เลขที่ ๕๕๕/๒ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ
                             ๒.๑ เอกสารการยื่นขอ
                                     ๒.๑.๑ เอกสารแสดงคุณสมบัติผู้ขอ
                                                (๑) เอกสารแสดงการเป็นบริษัท
                                                      หลักฐานการจดทะเบียนบริษัทที่ขอคัดไว้ไม่เกิน ๓ เดือน และรับรองโดยหน่วยงานที่รับจดทะเบียนที่แสดงถึงการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
                                                      (๑.๑) ชื่อบริษัท
                                                      (๑.๒) วันที่จัดตั้ง
                                                      (๑.๓) ที่อยู่ของสำนักงานใหญ่
                                                      (๑.๔) จำนวนทุนจดทะเบียน
                                                      (๑.๕) วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท
                                                      (๑.๖) รายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ถือหุ้นของบริษัท
                                                (๒) หลักฐานแสดงรายชื่อกรรมการและผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท หรือกรณีมอบอำนาจต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจ
                                                (๓) หลักฐานแสดงว่ามีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม โดยมีสถาบันที่เชื่อถือได้ออกหนังสือรับรองว่าเป็นความจริง เช่น รายงานประจำปี งบการเงินหรือผลประกอบกิจการซึ่งแสดงถึงมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ และอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทย้อนหลัง ๓ ปี หลักฐานการถือครองสิทธิในพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศต่าง ๆ ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา หลักฐานการถือครองกรรมสิทธิ์ หลักฐานการจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาเช่า สัญญาว่าจ้าง เป็นต้น
                                                ในกรณีที่ผู้ขอประกอบด้วยบริษัทมากกว่าหนึ่งราย ผู้ขอทุกรายต้องยื่นเอกสารทั้ง (๑) (๒) และ (๓) ในกรณีที่ผู้ขอไม่มีลักษณะครบถ้วนตาม (๓) ต้องมีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาลเชื่อถือและมีลักษณะครบถ้วนตาม (๓) และมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับผู้ขอ ให้การรับรองที่จะให้ทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ เพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียมแก่ผู้ขอ ทั้งนี้ ผู้ขอต้องยื่นหลักฐานตาม (๑) (๒) และ (๓) ของบริษัทผู้ให้การรับรอง และหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือ การจัดการกับผู้ขอด้วย
                                                ในกรณีที่ผู้ขอและ/หรือบริษัทผู้ให้การรับรองเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ หลักฐานตาม (๑) (๒) และ (๓) ต้องมีหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูต สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศนั้น ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือต้องมีหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูต สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศนั้น หรือต้องมีหนังสือรับรองของโนตารีปับลิคในประเทศนั้นหรือของบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับโนตารีปับลิคในกรณีที่ประเทศที่เป็นที่ตั้งบริษัทผู้ขอไม่มีโนตารีปับลิค
                                                ผู้ขอต้องยื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติดังกล่าว โดยผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทต้องลงนามกำกับเพื่อรับรองความถูกต้องในหน้าแรกของเอกสารทุกฉบับและทุกหน้าที่แสดงคุณสมบัติ และให้ยื่นใส่ซองปิดผนึกและระบุชัดเจนบนหน้าซองว่า “เอกสารแสดงคุณสมบัติ” พร้อมระบุชื่อผู้ขอในฐานะ ผู้ดำเนินงานและชื่อแปลงสำรวจที่ยื่นขอ
                                     ๒.๑.๒ เอกสารข้อเสนอ
                                                ผู้ขอต้องยื่นเอกสารข้อเสนอดังต่อไปนี้
                                                (๑) โครงการสำรวจปิโตรเลียม
                                                      ผู้ขอต้องเสนอโครงการสำรวจปิโตรเลียมซึ่งระบุวิธีการ กำหนดเวลาที่จะดำเนินการ ตลอดจนประมาณการค่าใช้จ่ายในการนั้น ๆ พร้อมทั้งรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาตามหัวข้อ ที่กำหนดในเอกสารแนบ ๔ ท้ายประกาศฉบับนี้ ซึ่งสนับสนุนโครงการสำรวจปิโตรเลียมของแปลงสำรวจที่ยื่นขอ
                                                (๒) ข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม
                                                      ผู้ขอต้องเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับ การสำรวจปิโตรเลียมตามแบบการเสนอข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม ดังแสดงในเอกสารแนบ ๕ ท้ายประกาศฉบับนี้ โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ผู้ขอต้องเสนอข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม (๓ ปีแรก) ไม่ต่ำกว่าข้อผูกพันขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในตามเอกสารแนบ ๒ ท้ายประกาศฉบับนี้
                                                (๓) ผลประโยชน์พิเศษ
                                                      ผู้ขอต้องเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการชำระค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามกฎหมายตลอดระยะเวลาที่ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยผู้ขออาจเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษ เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรและการมีส่วนร่วม การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษา และ/หรือการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นด้วยก็ได้ แต่ต้องเสนอผลประโยชน์พิเศษ ดังนี้
                                                      (๓.๑) ผู้ขอต้องเสนอเงินให้เปล่าในการลงนาม (Signature Bonus) ไม่น้อยกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (หนึ่งแสนสองหมื่นดอลลาร์สหรัฐอเมริกาถ้วน)
                                                      (๓.๒) ผู้ขอต้องเสนอเงินให้เปล่าในการผลิต (Production Bonus) เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าครั้งละ ๑๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (หนึ่งหมื่นห้าพันดอลลาร์สหรัฐอเมริกาถ้วน) เมื่อมีปริมาณการขายหรือจำหน่ายน้ำมันดิบทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ บาร์เรล จนถึง ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาร์เรล
                                                      (๓.๓) ผู้ขอต้องเสนอให้เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยอาจเสนอชำระเป็นครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นรายปี ปีละเท่า ๆ กัน ภายในสามปีแรกของช่วงระยะเวลาการสำรวจ
                                                      (๓.๔) ผู้ขอต้องเสนอเงินให้เปล่าในการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ (Facility Bonus) เป็นจำนวน ๘๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (แปดหมื่นดอลลาร์สหรัฐอเมริกาถ้วน)
                                                      (๓.๕) ผู้ขอต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐเพื่อในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ดังแสดงในเอกสารแนบ ๖ ท้ายประกาศฉบับนี้
                                                      (๓.๖) ผู้ขอต้องยื่นขออนุมัติกำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติภายใน ๓๐ (สามสิบ) วันนับจากลงนามในสัมปทานปิโตรเลียม
                                                      (๓.๗) ผู้ขอต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นสำหรับผลประโยชน์พิเศษ ดังแสดงในเอกสารแนบ ๗ ท้ายประกาศฉบับนี้
                                                      ผลประโยชน์พิเศษให้เสนอตามแบบการเสนอดังแสดงในเอกสารแนบ ๘ ท้ายประกาศฉบับนี้
                                  ผู้ขอต้องยื่นเอกสารข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการสำรวจปิโตรเลียม ข้อผูกพันในด้านปริมาณงานและปริมาณเงินในการสำรวจปิโตรเลียม และข้อเสนอผลประโยชน์พิเศษดังกล่าว โดยผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทต้องลงนามกำกับ เพื่อรับรองความถูกต้องในเอกสารทุกฉบับและทุกหน้า และให้ยื่นใส่ซองปิดผนึกที่ระบุชัดเจนบนหน้าซองว่า “ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์พิเศษ” พร้อมระบุชื่อผู้ขอในฐานะ ผู้ดำเนินงานและชื่อแปลงสำรวจที่ยื่นขอและยื่นแยกจากซองเอกสารแสดงคุณสมบัติตาม ๒.๑.๑
                             ๒.๒ ค่าธรรมเนียมและการวางหลักประกันคำขอ
                                     ๒.๒.๑ ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ต่อหนึ่งคำขอ โดยจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้นในวันที่ยื่นคำขอ และเงินค่าธรรมเนียมนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะไม่คืนให้ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
                                     ๒.๒.๒ หลักประกันคำขอจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านบาทถ้วน) ต่อหนึ่งคำขอ โดยใช้ชนิดของหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
                                                (๑) เช็คหรือดราฟท์ที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่ายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นเช็คหรือดราฟท์ลงวันที่ที่ใช้เช็คหรือดราฟท์นั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน ๓ วันทำการ และออกโดยธนาคารพาณิชย์เฉพาะสาขาในประเทศไทยเท่านั้น
                                                (๒) พันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีการสลักหลังโอนให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
                                                (๓) หนังสือค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Bank Guarantee) จากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสาขาในประเทศไทย และต้องมีระยะเวลาค้ำประกันไม่น้อยกว่า ๑ ปีนับแต่วันที่ยื่นขอ ให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
                                                ผู้ขอจะได้รับคืนหลักประกันคำขอเมื่อได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ได้รับการพิจารณาให้ได้รับสิทธิและมาลงนามรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว
                                                ทั้งนี้ ให้ผู้ขอมีหนังสือขอรับคืนหลักประกันคำขอดังกล่าว และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะคืนหลักประกันคำขอภายใน ๑๕ วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือขอรับคืนหลักประกันคำขอนั้น
     

              ข้อ ๓ การพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
                             ๓.๑ คำขอที่ได้ยื่นโดยครบถ้วนและถูกต้องตามข้อ ๒ จะเป็นคำขอที่สมบูรณ์และได้รับ การพิจารณา
                             ๓.๒ ผู้ขอต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตามข้อ ๑
                             ๓.๓ ผู้ขอที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติแล้ว และได้เสนอโครงการสำรวจปิโตรเลียม ข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบ ๒ และเอกสารแนบ ๕ ท้ายประกาศฉบับนี้ และผลประโยชน์พิเศษที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด จึงจะมีสิทธิเข้ารับการพิจารณาคัดเลือก โดยใช้หลักเกณฑ์ตามข้อ ๓.๔ และข้อ ๓.๕ ต่อไป

    (๑) Physical work and expenditure obligations ๘๐ points
    (๒) Special advantages/payments ๒๐ points

                             ผู้ขอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
                             ๓.๕ ในการพิจารณาโครงการสำรวจปิโตรเลียมจะพิจารณาจากปริมาณงานที่เสนอว่า มีความสอดคล้องกับเหตุผลทางธรณีวิทยาของพื้นที่แปลงสำรวจ และปริมาณเงินที่เสนอมีความเหมาะสม กับปริมาณงานที่จะกระทำหรือไม่
                             ๓.๖ กรณีที่มีผู้ยื่นขอเพียงหนึ่งรายหรือมีผู้ผ่านเกณฑ์ตาม ๓.๓ เพียงหนึ่งราย ทางราชการสงวนสิทธิที่จะพิจารณายกเลิก หรือให้ หรือไม่ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ได้ตามที่ทางราชการเห็นสมควร ทั้งนี้ ผู้ขอจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อทางราชการทั้งสิ้น
     

              ข้อ ๔ ข้อสงวนสิทธิและอื่น ๆ
                             ๔.๑ ทางราชการสงวนสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาคำขอใด ๆ ของผู้ขอในกรณี
                                     ๔.๑.๑ ยื่นคำขอเมื่อพ้นจากกำหนดเวลาตามข้อ ๒
                                     ๔.๑.๒ ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ๒.๑
                                     ๔.๑.๓ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือไม่วางหลักประกันตาม ๒.๒
                                     ๔.๑.๔ แสดงเอกสารหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ
                             ทั้งนี้ ผู้ขอจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อทางราชการทั้งสิ้น
                             ๔.๒ ทางราชการสงวนสิทธิที่จะพิจารณายกเลิก หรือให้ หรือไม่ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามประกาศฉบับนี้แก่ผู้ขอรายหนึ่งรายใดก็ได้ และผู้ขอจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ จากทางราชการ
                             ๔.๓ คำขอ ข้อกำหนดและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอที่ผู้ขอเสนอตามประกาศฉบับนี้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัมปทานปิโตรเลียม
                             ๔.๔ การคืนหลักประกันใด ๆ ให้แก่ผู้ขอ เป็นการคืนเฉพาะหลักประกันโดยไม่มีดอกเบี้ย
                             ๔.๕ เมื่อกระทรวงพลังงานได้ประกาศผลการพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และได้แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่เพื่อลงนามในสัมปทานปิโตรเลียม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะแจ้ง เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังที่อยู่ที่ระบุไว้ในเอกสารยื่นคำขอ ให้ผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิดำเนินการดังต่อไปนี้
                                     ๔.๕.๑ ผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิต้องวางหลักประกันการดำเนินงาน ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อให้กระทรวงพลังงานมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินงานตามข้อผูกพันที่กำหนด ทั้งนี้ กำหนดให้วางหลักประกันเป็นจำนวนเงินเท่ากับปริมาณเงินตามข้อผูกพันการสำรวจที่ได้เสนอและผลประโยชน์พิเศษที่เสนอให้แก่รัฐในช่วงการสำรวจทั้ง ๖ ปี โดยรูปแบบการวางหลักประกันให้ใช้หลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
                                                (๑) เช็คหรือดราฟท์ที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่ายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นเช็คหรือดราฟท์ลงวันที่ที่ใช้เช็คหรือดราฟท์นั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน ๓ วันทำการ และออกโดยธนาคารพาณิชย์เฉพาะสาขาในประเทศไทยเท่านั้น
                                                (๒) พันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีการสลักหลังโอนให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
                                                (๓) หนังสือค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Bank Guarantee) จากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสาขาในประเทศไทย หนังสือค้ำประกันนี้มีระยะเวลาค้ำประกันไม่น้อยกว่า ๖ ปีนับแต่วันลงนามในสัมปทานปิโตรเลียม
                                                ผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิต้องวางหลักประกันการดำเนินงานให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างน้อย ๑๐ วันทำการก่อนวันลงนามในสัมปทานปิโตรเลียม
                                                หากผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิมิได้วางหลักประกันการดำเนินงานตามที่กำหนด หรือมิได้มาลงลายมือชื่อรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถือว่าไม่ประสงค์จะรับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทาน และยินยอมให้ริบหลักประกันคำขอ ทั้งนี้ ผู้ขอ ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิ จะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายหรือสิทธิใด ๆ จากทางราชการทั้งสิ้น
                                     ๔.๕.๒ หากผู้ได้รับสิทธิปฏิบัติไม่ครบตามข้อผูกพันการสำรวจทั้งด้านปริมาณงานและปริมาณเงิน และผลประโยชน์พิเศษในระยะเวลาที่กำหนด หรือคืนพื้นที่แปลงสำรวจทั้งแปลงก่อนสิ้นช่วง ข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง (๓ ปีแรก) จะต้องจ่ายเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงข้อผูกพันนั้นให้แก่รัฐ และรัฐมีสิทธิยึดหลักประกันการดำเนินงานหากผู้ได้รับสิทธิไม่จ่ายเงินดังกล่าวตามข้อผูกพันการสำรวจ และผลประโยชน์พิเศษ
                                                หลักประกันการดำเนินงานจะคืนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิทั้งหมดเมื่อได้ปฏิบัติ ตามข้อผูกพันการสำรวจและผลประโยชน์พิเศษครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิสามารถขอปรับลดวงเงินค้ำประกันการดำเนินงานเมื่อได้ดำเนินงานตามข้อผูกพันการสำรวจและผลประโยชน์พิเศษในแต่ละปี
                                                เมื่อผู้ได้รับสิทธิมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับคืนหลักประกัน การดำเนินงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะคืนหลักประกันการดำเนินงานดังกล่าวภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตรวจสอบแล้วว่าปฏิบัติงานครบถ้วน
                                     ๔.๕.๓ ผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิต้องชำระเงินให้เปล่าในการลงนาม และเงินให้เปล่าในการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐตามที่ได้เสนอไว้ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๐ วันทำการก่อนวันลงนาม ในสัมปทานปิโตรเลียม โดยให้ชำระเป็นเช็คหรือดราฟท์ที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่ายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นเช็คหรือดราฟท์ลงวันที่ที่ใช้เช็คหรือดราฟท์นั้นชำระต่อเจ้าหน้าที่ หรือก่อนวันนั้นไม่เกิน ๓ วันทำการ และออกโดยธนาคารพาณิชย์เฉพาะสาขาในประเทศไทยเท่านั้น
                                                หากผู้ขอที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิมิได้ชำระเงินให้เปล่าในการ ลงนามและเงินให้เปล่าในการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐตามที่กำหนด จะถือว่าไม่ประสงค์จะรับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมและยินยอมให้ริบหลักประกันคำขอ ทั้งนี้ ผู้ขอที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ได้รับสิทธิจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายหรือสิทธิใด ๆ จากทางราชการทั้งสิ้น
                             ๔.๖ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิเรียกให้ผู้ขอชี้แจงหรือยื่นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ในรายละเอียด ทั้งนี้ ต้องไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ขอรายอื่น ๆ
                             ๔.๗ ผู้ขอต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการยื่นขอเองทั้งสิ้น และไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ ต่อทางราชการได้
     

              ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.dmf.go.th ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สามารถสอบถามมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ PetroleumBidding@dmf.go.th
     

     

    ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

  •    เอกสารแนบ 1 - แผนที่แสดงพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิ

     

    แผนที่และพิกัดภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
    จำนวน ๑ แปลงสำรวจ

    แผนที่แปลงสำรวจหมายเลข L1/64

    แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 มีพื้นที่ประมาณ ๗๘.๙๐ ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ พื้นที่ ดังนี้

    แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 พื้นที่ A มีพื้นที่ประมาณ ๖๗.๖๖ ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยเส้นตรงที่ลากเชื่อมจุดที่ ๑ ถึงจุดที่ ๘ ซึ่งมีพิกัดภูมิศาสตร์ ดังต่อไปนี้

    จุดที่ GCS Indian 1975
    ละติจูด (เหนือ) ลองจิจูด (ตะวันออก)
    1 16° 43' 00" 99° 46' 00"
    2 16° 50' 30" 99° 46' 00"
    3 16° 50' 30" 99° 49' 30"
    4 16° 46' 00" 99° 46' 00"
    5 16° 46' 00" 99° 48' 00"
    6 16° 43' 46" 99° 48' 00"
    7 16° 43' 46" 99° 46' 35"
    8 16° 43' 00" 99° 46' 35"

     

    แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 พื้นที่ B มีพื้นที่ประมาณ ๑๑.๒๔ ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยเส้นตรงที่ลากเชื่อมจุดที่ ๑ ถึงจุดที่ ๑๒ ซึ่งมีพิกัดภูมิศาสตร์ ดังต่อไปนี้

    จุดที่ GCS Indian 1975
    ละติจูด (เหนือ) ลองจิจูด (ตะวันออก)
    1 16° 40' 05" 99° 46' 30"
    2 16° 40' 30" 99° 46' 30"
    3 16° 40' 30" 99° 47' 00"
    4 16° 42' 40" 99° 47' 00"
    5 16° 42' 40" 99° 47' 40"
    6 16° 42' 06" 99° 47' 40"
    7 16° 42' 06" 99° 48' 00"
    8 16° 39' 32" 99° 48' 00"
    9 16° 39' 32" 99° 47' 50"
    10 16° 39' 12" 99° 47' 50"
    11 16° 39' 12" 99° 47' 00"
    12 16° 40' 05" 99° 47' 00"

     

  •    เอกสารแนบ 2 - รายละเอียดแปลงสำรวจที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิ

     

    รายละเอียดแปลงสำรวจปิโตรเลียมที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

              แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบก จำนวน ๑ แปลง พร้อม “ค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจ” (ค่า K) ตามมาตรา ๑๐๐ ฉ และ “ค่าลดหย่อนพิเศษ” (ค่า SR) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ภายใต้มาตรา ๑๐๐ ตรี (๔) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ มีรายละเอียดดังนี้

    พื้นที่บนบกบริเวณภาคกลางตอนบน จำนวน ๑ แปลง รวมพื้นที่ ๗๘.๙๐ ตารางกิโลเมตร

    แปลงสำรวจ
    หมายเลข
    พื้นที่
    (ตารางกิโลเมตร)
    จังหวัด ค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยา
    (เมตร)
    ค่าลดหย่อนพิเศษ
    (%)
    ปริมาณงานและเงินขั้นต่ำ
    สำหรับการสำรวจปิโตรเลียม
    ข้อผูกพันช่วงที่ ๑
    ปริมาณงาน ปริมาณเงิน
    (ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา)
    L1/64 ๗๘.๙๐ สุโขทัยและกำแพงเพชร ๓๐๐,๐๐๐ ๓๕ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือนสองมิติ จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ กิโลเมตร ๓๐๐,๐๐๐

    หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน
                          - แบบ ๒ มิติ ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา/กิโลเมตร

  •    เอกสารแนบ 3 - แบบคำขอสัมปทาน ชธ/ป1

  •    เอกสารแนบ 4 - หัวข้อรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยา

     

    หัวข้อรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยา

    1. Executive Summary

    2. Introduction

    2.1 Location and Area

    2.2 Data Availability, Methodology, Software and Interpretation

    3. Petroleum Exploration History

    3.1 Existing Data

    3.2 Result

    3.3 Known Hydrocarbon Occurrences

    4. Tectonic and Geologic Setting

    4.1 Tectonic Evolution

    4.2 Stratigraphic Sequences

    4.3 Others

    5. Petroleum Geology

    5.1 Bury History and Timing of Hydrocarbon Generation

    5.2 Potential Source Rocks

    5.3 Potential Reservoirs

    5.4 Migration pathways

    5.5 Traps and Seals

    5.6 Others

    6. Conceptual Exploration Issues and Planning

    6.1 Potential Prospects, Prospect Ranking and Prospect Maps

    6.2 Exploration Philosophy and Possible Field Development Plan

    6.3 Others

    7. Discussion and Conclusions

    8. References

     

  •    เอกสารแนบ 5 - แบบการเสนอข้อผูกพันงาน

  •    เอกสารแนบ 6 - เงื่อนไขการใช้สิ่งติดตั้ง

     

    ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม

              เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นสำหรับผลประโยชน์พิเศษในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้ง ที่เป็นของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานต้องยอมรับและปฏิบัติ ดังนี้

    ส่วนที่ ๑
    นิยามและสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐ

              สิ่งติดตั้ง หมายถึง ทรัพย์สินที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๖/๒๓ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC ส่งมอบให้แก่รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่าเมื่อสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อในพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมของแปลงสำรวจบนบกหมายเลข NC ตามข้อกำหนดในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๖/๒๓ ข้อ ๑๕ (๔) ได้แก่

              ๑. ที่ดิน อาคาร ถนน ท่อส่งปิโตรเลียม เครื่องสูบ เครื่องจักร ถังเก็บน้ำมัน สถานี สถานีย่อย สถานีปลายทาง สิ่งติดตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อันจำเป็นต่อการสำรวจ ผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม หรืออันมีลักษณะที่ใช้เป็นสาธารณูปโภคได้ เช่น ระบบไฟฟ้า ก๊าซ น้ำ สื่อสารหรือโทรคมนาคม

              ๒. สิ่งปลูกสร้างบนบก ได้แก่ ฐานหลุมผลิต สถานีผลิต หรือจุดเผาก๊าซ และสิ่งปลูกสร้างบนบกอื่น ๆ ที่จำเป็นในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม

              ๓. อุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องจักร และกลอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม

              ๔. ท่อขนส่ง ได้แก่ ท่อ ส่วนประกอบของท่อ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ในการขนส่งปิโตรเลียม สารพลอยได้ หรือน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะวางอยู่บนพื้นดิน ใต้ดิน หรือบนสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่หมายความถึงท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม หรือสารประกอบ ไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น

              ๕. วัสดุและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม
    โดยมีรายการบัญชีสิ่งติดตั้งตามแนบท้ายเอกสารนี้

    ส่วนที่ ๒
    เงื่อนไขในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม

              (๑) เมื่อผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานชำระเงินให้เปล่าในการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐแล้ว รัฐจะให้สิทธิแก่ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐเพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการบำรุงรักษาสิ่งติดตั้งนั้นให้พร้อม ใช้งานได้ตามอายุการใช้งานของสิ่งติดตั้งนั้น ๆ จนกระทั่งสิ้นสุดการใช้งานในสิ่งติดตั้งดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองแต่เพียงผู้เดียว

              (๒) สิทธิในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งตามส่วนที่ ๑ ให้รวมถึงสิทธิในการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งติดตั้งนั้น เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 ทั้งนี้ ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว และจะต้องแจ้งรายละเอียดในการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติมหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทราบภายใน ๑๕ (สิบห้า) วันนับจากวันแรกที่ได้เริ่มต้นดำเนินการดังกล่าว หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการดังกล่าว หรือภายหลังการดัดแปลง แก้ไข ต่อเติม หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐเสร็จ

              (๓) ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานมีสิทธิในการนำสิ่งติดตั้งตามส่วนที่ ๑ ออกไปให้ผู้รับสัมปทานอื่นในแปลงสัมปทานข้างเคียงร่วมกันใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้หลักการแบ่งรับภาระค่าใช้จ่ายระหว่างกันอย่างเป็นธรรม (Cost Allocation Basis) ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

              (๔) ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานมีภาระหน้าที่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อ ถอน เคลื่อนย้าย จำหน่าย จ่าย หรือโอนสิ่งติดตั้งตามส่วนที่ ๑ เมื่อเสื่อมสภาพการใช้งาน หรือสิ้นสุดการใช้งาน หรือระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก่อน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นผู้แต่งตั้ง หรือคัดเลือกผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทาน หรือบุคคลอื่นดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐนั้น ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๙ รวมถึงข้อบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐ

              (๕) เมื่อผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานได้ดำเนินงานตามข้อ (๔) แล้ว กรณีที่มีเงินรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานนำเงินรายได้ดังกล่าวทั้งหมดที่ได้รับนำส่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโดยครบถ้วน ภายใน ๓๐ วัน (สามสิบวัน) นับจากวันที่ได้รับการชำระเงินจากการดำเนินการดังกล่าวครบถ้วน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานยังไม่นำส่งเงินดังกล่าว ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานตกลงยินยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๒ (สอง) ต่อเดือนของจำนวนเงินดังกล่าวให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทั้งนี้ เงินได้จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของตนได้

              (๖) ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานยังคงต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิต ทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นใด ถ้าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากสิ่งที่เหลืออยู่ภายหลังการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐ

              (๗) เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ดูแล ติดตามการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถแต่งตั้งหรือมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐได้ตลอดเวลา โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะแจ้งวัน และเวลาให้แก่ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ (เจ็ด) วัน ก่อนเข้าดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานดังกล่าว

              (๘) ภายหลังจากที่ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะต้องปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และจะต้องดำเนินการส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยเร็วที่สุด สำหรับสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่เช่า (ถ้ามี) ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก่อนเริ่มดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐดังกล่าว

              ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียมดังกล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์พิเศษตาม ข้อ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียม หากผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียมดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นกรณีการไม่ชำระเงินผลประโยชน์พิเศษตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมตามข้อ ๑๔ (ค) ของสัมปทานปิโตรเลียมด้วย

    รายการบัญชีสิ่งติดตั้ง

  •    เอกสารแนบ 7 - ข้อกำหนดอื่นสำหรับผลประโยชน์พิเศษ

     

    ข้อกำหนดอื่นสำหรับผลประโยชน์พิเศษ

              กระทรวงพลังงานได้กำหนดข้อกำหนดอื่นภายใต้ข้อเสนอผลประโยชน์พิเศษ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ผู้ขอจะต้องยอมรับและปฏิบัติเมื่อได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทาน ดังนี้

              ๑. ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานต้องใช้บริการด้านยานพาหนะ การก่อสร้าง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการประกอบกิจการปิโตรเลียมจากผู้รับจ้างหรือวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นอันดับแรก

              ๒. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากสิ่งติดตั้งที่เป็นของรัฐที่ได้รับมอบจากผู้รับสัมปทานรายเดิมมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียม ในกรณีที่สิ่งติดตั้งบางส่วนมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันกับแปลงสำรวจอื่น ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานแปลงข้างเคียงรายนั้น เพื่อร่วมกันใช้ประโยชน์จากสิ่งติดตั้งนั้น ให้สามารถใช้สิ่งติดตั้งดังกล่าวต่อไป โดยให้ทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์ร่วมกันบนหลักการแบ่งรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างเป็นธรรม (Cost Allocation Basis) ทั้งนี้ หากสิ่งติดตั้งของผู้รับสัมปทานรายอื่นตั้งอยู่บนพื้นที่แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L1/64 ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานต้องเจรจาทำข้อตกลงกับผู้รับสัมปทานรายนั้น ๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งติดตั้งและดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง

              ๓. เพื่อประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานจะต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียม ตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง การบังคับใช้ประมวลหลักการปฏิบัติ สำหรับผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมซึ่งยังผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

              ๔. ผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง

              ข้อกำหนดอื่นสำหรับผลประโยชน์พิเศษดังกล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์พิเศษตาม ข้อ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียม หากผู้ขอที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นสำหรับประโยชน์พิเศษดังกล่าวนี้ให้ครบถ้วนถือว่าเป็นกรณีการไม่ชำระเงินผลประโยชน์พิเศษตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมตามข้อ ๑๔ (ค) ของสัมปทานปิโตรเลียมด้วย