เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

เลือกเปลี่ยนภาษา
ไทย อังกฤษ

นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงผ่านรายการข่าว 3 มิติ ประเด็นข้อเท็จจริง การสำรวจปิโตรเลียม ที่ จ.บุรีรัมย์

 
ข้อเท็จจริง การสำรวจปิโตรเลียม จังหวัดบุรีรัมย์
 
ตามที่มีการนำเสนอข่าวการยื่นฟ้องให้ชะลอการดำเนินโครงการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม   ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เนื่องจากประชาชนเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน ของ บริษัท ซ่านซี หยานฉาง ปิโตรเลียม ในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดบุรีรัมย์ นั้น
 
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขอเรียนชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ดังนี้ แปลงสำรวจหมายเลข L31/50  มีบริษัท ซ่านซีหยานฉาง ปิโตรเลียม จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน ปัจจุบันอยู่ในช่วงการสำรวจช่วงที่ 2 (25 กุมภาพันธ์ 2556 – 24 กุมภาพันธ์ 2559) กำลังสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือน 3 มิติ (3D Seismic) จำนวนพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอแคนดง (ตำบลหัวฝาย ตำบลดงพลอง และ ตำบลแคนดง) อำเภอสตึก (ตำบลนิคม เทศบาลตำบลดอนมนต์ และ ตำบลร่อนทอง) อำเภอบ้านด่าน (ตำบลโนนขวาง) และ อำเภอคูเมือง (ตำบลตูมใหญ่ และ ตำบลหินเหล็กไฟ) จังหวัดบุรีรัมย์ โดยว่าจ้าง บริษัท BGP Inc. ให้ดำเนินงาน
 
ขั้นตอนการสำรวจด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือนของชั้นหิน (Seismic Survey) ผู้รับสัมปทาน ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต่างจากการเจาะหลุมสำรวจ เนื่องจากไม่จัดอยู่ในประเภทกิจกรรม ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องส่งรายงานแผนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และได้ผ่านความเห็นชอบตามแผนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินงานสำรวจ Seismic Survey ตั้งแต่ 31 มีนาคม 2557 และกำหนดแล้วเสร็จภายใน 24 สิงหาคม 2557
 
ปัจจุบันไม่สามารถทดสอบวัตถุกำเนิดคลื่นและวัดความไหวสะเทือน ได้ในบางพื้นที่  คือ  จำนวน  3  หมู่บ้าน จากทั้งหมด  31  หมู่บ้าน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นว่าการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน  และไม่ได้แจ้งเจ้าของที่ดินให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการใช้วัตถุระเบิดประเภท  TNT ที่มีอานุภาพร้ายแรง และไม่ได้มีการระบุว่า มีการใช้วัตถุระเบิดในรายงาน EIA รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่มีข้อห่วงกังวลว่าอาจทำให้มีสารตกค้างกระทบคุณภาพ น้ำบาดาล และอาจทำให้แผ่นดินทรุด  ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อต้านและเหตุการณ์ในพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เจ้าของที่ดินบางแปลงไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ในการสำรวจ หรือเคยอนุญาตแต่เปลี่ยนใจในภายหลัง และได้มีการขโมยและทำลายอุปกรณ์การสำรวจ (รื้อ ตัด เผาสายรับสัญญาณ และขโมยแบตเตอรี่ในบางพื้นที่)
 
สำหรับการดำเนินงานเจาะหลุมกำเนิดคลื่นมีความลึกระหว่าง 12-25 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 นิ้ว จำนวน 6,900 หลุม (ระยะห่างระหว่างหลุม 50 เมตร ระยะห่างระหว่างแนว 300 เมตร) และใช้วัตถุกำเนิดคลื่น Emulex-700 (แอมโมเนียมไนเตรต ขนาดน้ำหนัก 2 และ 3 กิโลกรัม ซึ่งจะสลายตัวไปภายหลังเกิดการระเบิด) ไม่ใช่ระเบิด TNT ซึ่งใช้เป็นยุทธภัณฑ์ตามที่สังคมเกิดความห่วงกังวล
 
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมได้อย่างถูกต้อง และชัดเจนยิ่งขึ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงขอความร่วมมือบริษัทเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงหากพื้นที่ใดประชาชนยังคงยืนยันไม่ให้เข้าพื้นที่ก็ขอให้หลีกเลี่ยง การเข้าพื้นที่ดังกล่าว  
 
 
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
1 สิงหาคม 2557
 
 
 

ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2561 ผู้เยี่ยมชม : 74,741,342
ผู้เยี่ยมชม (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ชธ.) : 149,173