เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

เลือกเปลี่ยนภาษา
ไทย อังกฤษ

กองทุนน้ำมันฯ เตรียมปิดจ๊อบหนี้ช่วงวิกฤติพลังงานปี 2565 ที่เหลืออีก 4.3 หมื่นล้านบาท ภายใน 21 ก.ค. 2566 นี้

Topic

(30 พฤษภาคม 2566) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมปิดจ๊อบหนี้ที่เหลืออีก 4.3 หมื่นล้านบาท จากวิกฤติราคาดีเซลและ LPG ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา คาดชำระหมดภายในวันที่ 21 ก.ค. 2566 นี้ โดยวางแผนใช้เงินกู้อีก 2 หมื่นล้านบาท และเงินฝากอีก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนที่ไหลเข้ากองทุนฯ มาจ่ายคืน ชี้หลังจากนี้จะเหลือแค่หนี้กู้ยืมจากสถาบันการเงินที่มีประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานความคืบหน้าสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา และนำไปชำระหนี้ผู้ค้า ม.7 ทั้งหมดแล้ว แต่เดิมกองทุนฯ เป็นหนี้ผู้ค้า ม. 7 จากการพยุงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม(LPG) ในช่วงวิกฤติราคาพลังงานตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา รวมกว่า 1 แสนล้านบาท และทยอยใช้หนี้คืนจนปัจจุบันยังเหลือหนี้อีก 43,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามจำนวนหนี้ 43,000 ล้านบาทดังกล่าว ทาง สกนช.วางแผนจะใช้เงินจาก 2 ส่วนคือ 1. เงินกู้จากสถาบันการเงินรอบใหม่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องกู้เงิน คาดว่าจะได้เงินในเดือน มิ.ย. 2566 นี้  และ 2. เงินสดในธนาคาร รวมถึงเงินฝากที่เก็บไว้ที่กระทรวงการคลังอีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนที่เตรียมนำมาชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่ากองทุนฯ จะชำระหนี้อีก 43,000 ล้านบาทได้หมดภายในวันที่ 21 ก.ค. 2566 นี้

ปัจจุบันกองทุนฯ ไม่มีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามา เนื่องจากไม่ได้ชดเชยราคาน้ำมันแล้ว และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทเข้ากองทุนฯ ด้วย ส่วน LPG แม้จะมีการชดเชยราคาประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังมีเงิน LPG ส่งเข้ากองทุนฯ ด้วย ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าประมาณวันละ 443 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการหมุนเวียนจ่ายหนี้ประจำสัปดาห์ได้ จึงไม่ได้มีหนี้ใหม่เพิ่มเติม ยกเว้นหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินเท่านั้น

สำหรับภาพรวมการกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น รัฐบาลกำหนดกรอบให้กู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้บรรจุหนี้สาธารณะให้ สกนช.ทำเรื่องกู้ได้ในรอบแรก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกู้และใช้เงินหมดแล้ว ส่วนรอบ 2 อีก 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งกู้และใช้หมดแล้ว 2 หมื่นล้านบาท  และอยู่ระหว่างทำเรื่องกู้อีก 2 หมื่นล้านบาท โดยรวมจะเป็นเงินกู้จริงทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่เหลือจะกู้ต่อหรือไม่นั้น ทาง สกนช. ขอพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ทั้งการประชุมโอเปคพลัส การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในเดือน มิ.ย. 2566 นี้ก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาได้ว่าจะกู้ต่อหรือจะหยุดกู้เงินชั่วคราว

อย่างไรก็ตามจากกรณีมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะกลับมาเรียกเก็บภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรนั้น  สกนช.ได้จัดทำแบบจำลองสถานการณ์เงินกองทุนฯ กรณีกระทรวงการคลังจะกลับมาเก็บภาษีดีเซลอีก 5 บาทต่อลิตร หลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษีในวันที่ 20 ก.ค. 2566 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) พิจารณาในหลายกรณี ทั้งกรณีการชดเชยภาษีดีเซลแทนประชาชนทั้งหมด รวมถึงการปรับขึ้นราคาดีเซลในอนาคต แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดปรับขึ้นราคาดีเซลแต่อย่างใด

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 21 พ.ค. 2566 กองทุนฯ ติดลบรวม 72,731 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 26,111 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,620 ล้านบาท

 

 

 

 

ที่มา : https://www.energynewscenter.com/กองทุนน้ำมันฯ-เตรียมปิด

ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2561 ผู้เยี่ยมชม : 74,748,824
ผู้เยี่ยมชม (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ชธ.) : 149,180